แหวนนพเก้า กับความเชื่อเรื่องอัญมณี

มนุษย์เรามีความเชื่อในเรื่องพลังอัญมณีแต่ละชนิดมาอย่างยาวนาน และมีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับพลังของอัญมณีแต่ละชนิดไว้มากมายในหนังสือบนโลกใบนี้ รวมถึงพลังแห่ง “นพเก้า” หรือ นพรัตน์ นั่นเอง

ในอดีต ประวัติศาสร์ได้บันทีกเรื่องที่เกี่ยวกับการนำเอาอัญมณีมาใช้ในการรักษาเยียวยาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังรวมถึงการใช้เป็นเครื่องประดับ และเป็นเครื่องราง เครื่องนำโชคดี ทั้งยังมีเป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะในสังคมอีกด้วย

นพเก้า ที่สุดแห่งอัญมณีเสริมมงคล

สำหรับในประเทศไทยนั้นคาดว่าความเชื่อในพลังของอัญมณีได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย โดยอัญมณีซึ่งจัดว่าเป็นสิริมงคลสูงสุดในบรรดาอัญมณีทั้งปวงในตำราความเชื่อของไทยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 9 ชนิด ซึ่งรู้จักกันในนามของ ‘นพเก้า’ หรือ ‘นพรัตน์’ โดยเชื่อถือว่าอัญมณีแต่ละชนิดเป็นสัญลักษณ์แทนดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ดวงในระบบสุริยะ ซึ่งมีเทพดูแล มีคุณ สมบัติในทางสิริมงคล ป้องกันภยันตรายต่างๆ หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองก็เท่ากับมีมงคลไว้ติดตัวจะเจริญรุ่งเรือง (สมัยก่อนนับดาวพลูโตเป็นสมาชิกระบบสุริยะ)

ทั้งยังมีการนำชื่ออัญมณีและคุณค่าของนพเก้ามีสีสันที่โดดเด่นเฉพาะตัวมาเรียงร้อยเป็นคำกลอนให้ท่องจำได้ง่าย ดังเราคุ้นเคยจากตำราเรียนสมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียนดังนี้:

เพชรดี มณีแดง (ทับทิม) เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสด บุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ (ไพลิน) มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์

แหวนนพเก้า นำสิริมงคลมาสู่ตัวผู้สวมใส่อย่างสูงสุด
นพเก้า หรือ นพรัตน์ หรือเรียกอีกอย่างว่า แก้วเก้าเนาวรัตน์ ถือเป็นสัญลักษณ์ของดาวนพเคราะห์ เป็นของสูงที่จะนำสิริมงคลมาสู่ตัวผู้สวมใส่ให้เจริญรุ่งเรืองด้วยประการทั้งปวง เลิศด้วยความดีงามทั้งปวง จึงถือได้ว่าถ้าผู้ใดมีไว้ครบทั้งหมดก็จะเป็นสิริมงคลอย่างสูงสุด

โดยมีความหมายอันเป็นมงคล ดังนี้:

  • เพชรดี หมายถึง เพชร แร่รัตนชาติสีขาว (Diamond)
  • มณีแดง หมายถึง ทับทิม แร่รัตนชาติสีแดง (Ruby)
  • เขียวใสแสงมรกต หมายถึง มรกต แร่รัตนชาติสีเขียว (Emerald)
  • เหลืองใสสดบุษราคัม หมายถึง บุษราคัม แร่รัตนชาติสีเหลือง (แซฟไฟร์สีเหลือง)
  • แดงแก่ก่ำโกเมนเอก หมายถึง โกเมน แร่รัตนชาติสีเลือดหมู (Garnet)
  • สีหมอกเมฆนิลกาฬ หมายถึง แซฟไฟร์ แร่รัตนชาติสีน้ำเงิน(ไพลิน) (แซฟไฟร์สีน้ำเงิน)
  • มุกดาหารหมอกมัว หมายถึง มุกดา หรือ จันทรกานต์ แร่รัตนชาติสีขาวขุ่นคล้ายสีหมอก มีลักษณะพิเศษมีเหลือบรุ้งสีออกฟ้าสีนวล (Moonstone)
  • แดงสลัวเพทาย หมายถึง เพทาย แร่รัตนชาติสีแดงเข้ม (Hyacinth) เขียนอีกอย่างหนึ่งว่า (Yellow Zircon) (ซึ่งเป็นรัตนชาตชนิดเดียวกัน)
  • สังวาลสายไพฑูรย์ หมายถึง ไพฑูรย์ เป็นอัญมณีหรือหินสีชนิดหนึ่งหรือแร่รัตนชาติ มีหลายสีเช่น สีเหลืองนวล สีเหลืองทอง สีน้ำผึ้ง สีเขียวแอปเปิล สีน้ำตาล ฯลฯ (Chrysoberyl-cat eye)

นพรัตน” ความหมายตามภาษาสันสกฤตหมายถึง “๙ รัตนชาติ”

นพเก้า(นพรัตน์)กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) องค์ประกอบสายสะพายชั้นเดียวของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ฯ

มหานพรัตน ด้านหน้าเป็นดอกประจำยามประดับ 9 รัตน ใช้ห้อยกับแพรแถบ สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย (สำหรับบุรุษ) ส่วนสำหรับสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

ดารานพรัตน เป็นรูปดาราประดับ 9 รัตน เหมือนมหานพรัตน

แหวนนพรัตน ทำด้วยทองคำเนื้อสูง

และนพรัตนยังเป็นส่วนหนึ่งของนามกรุงเทพฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานนาม โดยทรงเปรียบเทียบเมืองหลวงของไทยนี้ดั่งเมืองในสรวงสวรรค์แห่งเทพ อันเป็นที่มาของรัตนชาติทั้ง ๙ ประการว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ซึ่งจากเอกสารในหอสมุดของสยามสมาคมฯระบุว่าครูมนตรี ตราโมท เป็นผู้นำกลอนนพรัตน์มาแต่งท่วงทำนองใช้ร้องเป็นระบำนพรัตน์กล่าวคือ “เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองสวยสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์ฯ”

นพเก้า หรือนพรัตน์ เครื่องประดับยศของกษัตริย์และขุนนางชั้นสูง

จากหลักฐานตามความเชื่อเรื่องนพเก้า หรือ นพรัตน์ ที่เชื่อว่านพเก้านั้นเป็นของสูง ในสมัยอยุธยาอัญมณีทั้ง 9 นี้มีไว้เฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น จึงได้มีการนำนพเก้ามาทำเครื่องประดับสำหรับประดับยศตำแหน่งของกษัตริย์และขุนนางชั้นสูง เช่น สังวาลนพรัตน์ แหวนนพรัตน์

ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้กำหนดให้นำนพเก้ามาประดับตกแต่งบนเรือนแหวนเรียกว่า แหวนนพเก้า สำหรับพระราชทานให้แก่พระราชวงศ์ รวมถึงเพื่อปูนบำเหน็จให้แก่ขุนนาง ข้าราชการ และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กำหนดเรื่องแหวนนพรัตน์ ในจดหมายกำหนดว่าด้วยเครื่องประดับสำหรับยศในสยามให้มีการสร้างแหวนทองคำประดับด้วย พลอยทั้ง 9 ชนิด ไว้สำหรับพระราชทานให้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงตรามหานพรัตน์สำหรับห้อยสายสะพายขึ้นเป็นครั้งแรกของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย รวมทั้งให้สร้างแหวนนพรัตน์เพิ่มเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราช วราภรณ์ สำหรับพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่

“แหวนนพเก้า” หรือ แหวนนพรัตน์ จึงถือเป็นแหวนสูงค่าที่รู้จักกันดีมานานนับร้อยปี ตามความเชื่อที่ว่า อัญมณีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในทางมงคล ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ และขจัดความไม่เป็นมงคลทั้งหลายให้สิ้นไปได้ หากผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ก็เท่ากับมีมงคลไว้ติดตัว ทำสิ่งใดย่อมมี ความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการรวบรวมความงดงาม ความเชื่อ และความศรัทธา เกี่ยวกับนพรัตน์เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้แหวนนพเก้าจึงมีทั้งความงามและคุณค่าในตัวเอง โดยแทบไม่ต้องปรุงแต่ง

ปัจจุบันเครื่องประดับตกแต่งด้วยนพเก้าโดยเฉพาะแหวนนพเก้า เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปทั้งชายและหญิง โดยเชื่อกันผู้ที่มีนพเก้าไว้ในครอบครองก็เท่ากับมีมงคลติดตัวด้วยเหตุที่ว่าอัญมณีทั้ง 9 ชนิดนี้ มีคุณสมบัติในทางมงคลที่แตกต่างกัน

ดังบทกลอนตามตำราดังนี้:

เพชรยิ่งใหญ่ไพรีไม่มีกล้ำ ทับทิมนำอายุยืนเพิ่มพูนผล อุดมลาภยศศักดิ์ประจักษ์ดล มรกตกันภัยพ้นผองเล็บงา บุษราคัมฉาบเสน่ห์ไม่เสแสร้ง โกเมนแจ้งแคล้วพาลภัยใจสุขา ไพลินย้ำความร่ำรวยช่วยนำพา มุกดาหารเสน่หาน่าเมียงมอง อันเพทายช่วยกันโทษที่โฉดเขลา ไพฑูรย์เล่ากันฟอนไฟภัยทั้งผอง ดลบันดาลให้เทวามาคุ้มครอง สบสนองคุณค่าแจ้งแห่งนพรัตน์

นพรัตนกับดวงดาว

การให้ความหมายของรัตนชาติทั้ง ๙ ประการนี้ท่านพันเอก (พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ และท่านเทพย์ สาริกบุตรได้ระบุไว้ใน”คัมภีร์ปาริชาตชาดก” หรือ “ชาตกปาริชาต (जातक पारिजात – Jataka Parijata)” (บทที่ ๒ โศลก ๒๑ หน้า ๓๖-๓๗)

“ทับทิมบริสุทธิ์ เป็นรัตนของอาทิตย์ ไข่มุกที่ขาวบริสุทธิ์โดยแท้ธรรมชาติ เป็นรัตนของจันทร์ ปะการังแก้วประวาล เป็นรัตนของอังคาร มรกต เป็นรัตนของพุธ บุษราคัม เป็นรัตนของพฤหัสบดี เพชร เป็นรัตนของศุกร์ ไพลิน เป็นรัตนของเสาร์ โกเมนเอก เป็นรัตนของราหู และไพฑูรย์ เป็นรัตนของเกตุฯ” กล่าวคือ

  • เพชรดี – คือรัตนของดาวพระศุกร์
  • มณีแดง – คือทับทิมบริสุทธิ์ของดาวพระอาทิตย์
  • เขียวใสแสงมรกต – คือรัตนของดาวพระพุธ
  • เหลืองสวยสดบุษราคัม – คือรัตนของดาวพระพฤหัสบดี
  • แดงแก่ก่ำโกเมนเอก – คือโคเมทส้มรัตนของดาวพระราหู
  • สีหมอกเมฆนิลกาฬ – คือไพลินรัตนของดาวพระเสาร์
  • มุกดาหารหมอกมัว – คือไข่มุกแท้รัตนของดาวพระจันทร์
  • แดงสลัวเพทาย – คือปะการังรัตนของดาวพระอังคาร
  • สังวาลย์สายไพฑูรย์ – คือเพชรตาแมวรัตนของดาวพระเกตุ

นพรัตน์ในโหราศาสตร์โบราณ

จากหลักโหราศาสตร์โบราณของเอเชีย ชีวิตบนโลกล้วนขึ้นอยู่กับนพเคราะห์ หรือ ๙ อิทธิพล ซึ่งตำแหน่งที่สถิตของนพเคราะห์ในแผนภูมิดวงชะตาของแต่ละบุคคล ล้วนส่งอิทธิพล ต่อดวงชีวิตของคนๆนั้น กล่าวกันว่าการสวมใส่ ๙ รัตนชาติ จะช่วยให้ดวงดาวตามโหราศาสตร์สมดุล และมีสิริมงคลต่อผู้สวมใส่ ทางโหราศาสตร์เอเชียโบราณยังกล่าวว่าพลังรัตนชาติเหล่านี้ยังผลดีและผลลบต่อชีวิตมนุษย์เช่นกัน ดังนั้น ก่อนการสวมใส่ดารารัตนชาติ จึงควรจำเป็นต้องปรึกษาโหรโบราณ ระบบพระเวท ควรเป็นผู้ที่ศึกษาและเชี่ยวชาญทางดารารัตนชาติเพื่อให้ต้องโฉลกต่อพื้นฐานดวงชะตาของแต่ละบุคคล แม้ว่าจะเป็นเพียงรัตนเดี่ยวๆหรือการแนะนำให้ประดับรัตนที่สมพงษ์ร่วมในเรือนเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง(Reference)